VUCA vs BANI กับโลกแห่งความโกลาหล

     จากยุคที่นักยุทธศาสตร์ทั่วโลก รู้จักและใช้ VUCA เป็นแนวคิดในการอธิบายถึงความไม่แน่นอนของโลกมาอย่างยาวนานกว่า 2 ทศวรรษ จนเมื่อโลกต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงบนความไม่แน่นอนที่ยากคาดเดามากขึ้น รุนแรงขึ้น และถี่ขึ้น จึงเป็นที่มาแนวคิดใหม่ที่จะช่วยให้เข้าใจความเปลี่ยนแปลงและเป็นไปของโลกปัจจุบันและอนาคตข้างหน้าได้มากขึ้น เพื่อการปรับตัวให้อยู่บนโลกแห่งความโกลาหลได้ คือ BANI

     BANI คือ อะไร? … และเราจะเตรียมตัวหรือทำตัวอย่างไร? ในวันที่ความโกลาหลของโลกเดินมาเคาะประตูบ้านแล้ว

VUCA คือ ?

     VUCA เป็นแนวคิดที่ถูกสร้างขึ้นโดย United States Army War College ในปลายทศวรรษ 1980 จากการนิยามสถานการณ์ของโลกในยุคนั้น ด้วยคำว่า Volatility, Uncertainty, Complexity และ Ambiguity แต่ VUCA เริ่มเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในหลายองค์กรและหน่วยงานของสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก นับจากปี 2000 เป็นต้นมา เพื่อใช้เป็นเครื่องมืออธิบายถึงปัญหาและอุปสรรคของการจะดำเนินงานใด ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา จนส่งผลถึงความสำเร็จของแผนงานนั้น ๆ

     โดยที่ Volatility แทนความหมายของความผันผวน ความไม่เสถียรของสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานใด ๆ ในแผนงาน จนอาจจะเป็นสาเหตุสำคัญให้แผนงานนั้นต้องประสบความล้มเหลว และความผันผวนของสภาพแวดล้อมนี้เอง ยังเป็นอีกปัจจัยที่มักจะก่อให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของคำว่า “เร่งด่วน (Urgency)” และ “สำคัญ (Importance)” ได้

     ขณะที่ Uncertainty หรือความไม่แน่นอนที่สืบเนื่องมาจากความผันผวนของสภาพแวดล้อมต่าง ๆ จนยากที่จะทำนายหรือพยากรณ์ผลการดำเนินงานล่วงหน้าได้อย่างถูกต้องและชัดเจน

     Complexity หรือความซับซ้อนของข้อมูลที่จำเป็นต่อการศึกษา เพื่อการประเมินหรือพยากรณ์แนวโน้มต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแผนงาน ทั้งในมิติด้านความสัมพันธ์ของข้อมูลแต่ละส่วนและปริมาณข้อมูลที่มาก จนยากต่อการประเมินหรือประมวลผลข้อมูล

     สำหรับ Ambiguity คือ ความคลุมเครือของข้อมูลที่นำไปสู่การสร้างความสับสนระหว่างเหตุและผล จนอาจจะเป็นที่มาของความไม่เข้าใจในข้อมูลหรือเรื่องนั้น ๆ อย่างถ่องแท้ของบุคคลที่เกี่ยวข้อง

     VUCA แม้จะเป็นที่ยอมรับและใช้อธิบายสถานการณ์โลกอย่างกว้างขวางแพร่หลายมากว่า 2 ทศวรรษ แต่เมื่อโลกได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากปัจจัยแวดล้อมทางโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี กระทั่ง นักคิด นักยุทธศาสร์ รู้สึกว่า VUCA เริ่มห่างไกลจากความเป็นไปของโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ … จึงเกิดคำถามถึงความเหมาะสมที่จะใช้ VUCA ต่อไปอีกหรือไม่?

     BANI จึงได้กำเนิดขึ้นมาและปรากฎครั้งแรกในบทความเรื่อง Facing the Age of Chaos ของ Jamais Cascio ศาสตราจารย์แห่ง University of California และสมาชิกของ Institute for the Future

BANI คือ ?

      ใน Facing the Age of Chaos ได้สะท้อนมุมมองของ Jamais Cascio ถึงสถานการณ์ของโลกในยุคปัจจุบันว่าเป็นโลกแห่งความโกลาหล ที่ส่งผลให้เกิดอาการที่น่าวิตกขึ้นในสังคมและองค์กรต่าง ๆ คือ Brittleness, Anxiety, Nonlinearity และ Incomprehensibility หรือที่เรียกว่า แนวคิด BANI

     Brittleness มีความหมายถึงความเปราะบาง โดยได้หยิบยกกรณีการระบาดของ Covid-19 ที่ลุกลามและส่งผลกระทบไปทั่วโลกภายในระยะเวลาที่รวดเร็ว มาเป็นมูลเหตุวิเคราะห์ความเปราะบางของสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน ที่อาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงต่อโครงสร้างธุรกิจ การตลาด หรือแม้แต่หน้าที่การงาน และอาชีพของบุคคล เพียงเพราะมีวิกฤติการณ์ขึ้นในอีกซีกโลกหนึ่ง … ความมั่นคง ความรู้สึกปลอดภัย ไม่มีอีกต่อไปแล้ว

     Anxiety คือ ความวิตกกังวล ซึ่งเกิดขึ้นจากการต้องตัดสินใจบนความเปราะบางของผลกระทบในสถานการณ์หนึ่ง ๆ เพราะการตัดสินใจที่รวดเร็วย่อมมีความเสี่ยง เช่นเดียวกับการเสียเวลาไปกับการตัดสินใจก็อาจจะทำให้เราต้องตกอยู่ในสถานะผู้ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง … ความสำเร็จ หรือล้มเหลว จึงอาจจะวัดกันที่การตัดสินใจของเราในช่วงเวลาที่เรารู้สึกอ่อนแอก็เป็นไปได้

    Nonlinearity ความไม่เป็นเหตุเป็นผลเชิงเส้น เช่น ผลสำเร็จที่ได้รับอาจจะไม่คุ้มค่ากับความพยายามที่ทุ่มเทลงไปอย่างมาก หรือการตัดสินใจผิดเพียงเล็กน้อยในเรื่องหนึ่ง ๆ อาจส่งผลร้ายแรงอย่างที่สุดตามมาได้ เมื่อโลกต้องเผชิญกับการสูญเสียความเป็นเหตุเป็นผลเชิงเส้น เราจึงต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับถึงผลลัพธ์ที่อยู่เหนือคาดหมาย ไร้ความแน่นอน … กลยุทธ์ หรือแผนการดำเนินงานใด ๆ ที่คิดและจัดทำมาอย่างดีแล้ว จึงต้องสามารถเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่แปรเปลี่ยนไปได้เสมอ

    Incomprehensibility หรือความไม่เข้าใจ … แม้ว่าเราสามารถค้นหาคำตอบได้ทุก ๆ สิ่งที่ต้องการ ด้วยความสามารถที่จะเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย เร็ว และมาก กระทั่งในความเร็วและมาก หรือ “ท่วมท้น” ของข้อมูลอาจจะเป็นสาเหตุแห่งความสับสน และที่มาของความไม่เข้าใจขึ้นได้เช่นกัน

เตรียมตัวหรือทำตัวอย่างไร?

เมื่อโลกแห่งความโกลาหลมาเคาะประตูบ้านแล้ว

     ในโลกแห่งความโกลาหลเช่นนี้ ยากที่จะหาใครมาทำนายหรือพยากรณ์อนาคตของโลกในอีก 6 เดือน หรือ 1 ปีข้างหน้าเช่นในอดีต ด้วยบริบทนี้ การจัดทำแผนกลยุทธ์ธุรกิจระยะยาวขององค์กรธุรกิจ หรือในการบริหารประเทศ จึงอาจจะเป็นเป็นเรื่องไม่ Make Sence อีกต่อไป เพราะเป็นที่เข้าใจโดยทั่วไปอยู่แล้วว่าไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว เพื่อการเอาชนะความโกลาหลได้ … แต่ถึงอย่างไร เราก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญหน้ากับความโกลาหลนี้ได้

ดังนั้น ……

เมื่อรู้สึกถึงความเปราะบาง หรือ Brittleness ยิ่งต้องแสดงศักยภาพและความยืดหยุ่นให้โลกเห็น

ลดความวิตกกังวลจากการตัดสินใจใด ๆ ด้วยความพยายามทำความเข้าใจ และใช้สติให้มาก

เอาชนะความไม่เป็นเหตุเป็นผลเชิงเส้น ด้วยความพร้อมและสามารถที่จะปรับตัวอยู่เสมอ

และสุดท้าย คือ ปล่อยวาง และใช้สัญชาติญาณ เมื่อรู้สึกสับสนหรือไม่เข้าใจต่อสิ่งที่กำลังเผชิญ

     แนวคิด BANI อาจจะเป็นทางเลือกใหม่ เป็นจุดเริ่มต้นของการคิด การสร้างโอกาสเชิงรุกและพร้อมรับต่อทุกสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในยุคแห่งความโกลาหลของโลกนี้ โดยสามารถประยุกต์หรือปรับใช้กับชีวิตส่วนตัว การบริหารธุรกิจ และการบริหารรัฐกิจ แทนที่ VUCA ที่เคยใช้มายาวนาน

     กับหลักสูตร Fast Mini MBA for New Manager in the Age of VUCA #7 ที่ช่วยคุณเข้าใจแนวคิด VUCA และ BANI ได้มากยิ่งขึ้น

ปรับปรุงจาก : Marian Temmen.(2021).BANI vs VUCA-a new acronym for a new world.https://temmen.medium.com/bani-vs-vuca-a-new-acronym-for-anew-world-59c7be2dddce