เมื่อ Temu พร้อมบุกตลาดไทย ผู้ประกอบการไทย ควรตั้งป้อมตั้งรับอย่างไร?

     ในวงการธุรกิจ e-Marketplace และ e-Commerce ไทย ต้องตื่นตัวครั้งใหญ่อีกวาระหนึ่ง เมื่อ Temu (ทีมู่) ได้เปิด Version ภาษาไทย ในราวปลายเดือนที่ผ่านมา (กรกฎาคม 2567) ซึ่งเปรียบได้กับการประกาศตัวเป็นผู้เล่นใหม่ (New Comer) ที่สร้างความกังวลแก่ผู้ประกอบการไทยที่มี e-Marketplace และ e-Commerce เป็นเครื่องมือสำคัญของการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันเป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากความเคลื่อนไหวล่าสุดของภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ผู้ก่อตั้ง Tarad.com ที่เล็งเห็นว่า Temu คือ ภัยคุกคามต่อผู้ประกอบการไทย ทั้งโรงงานผู้ผลิตสินค้า ถึงผู้นำเข้าสินค้าจากจีน เพราะ Temu คือ Platform ตัวกลางระหว่างโรงงานผู้ผลิตสินค้าในจีนกับผู้ซื้อจากทั่วโลก ซึ่งรวมถึง ผู้ซื้อชาวไทยด้วยเช่นกัน โดยมีอาวุธสำคัญในการบุกตีตลาดทั่วโลก คือ ราคาสินค้าที่ถูกกว่า

Temu ผู้มาใหม่

     Temu คือ ธุรกิจในเครือ PDD Holding ซึ่งดำเนินธุรกิจ e-Marketplace ในจีน โดยเป็นที่รับทราบกันทั่วไปว่า PDD Holding เป็นธุรกิจที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน ที่เราสามารถประเมินศักยภาพของ Temu ให้เห็นภาพที่ชัดเจนของยักษ์ใหญ่วงการ e-Marketplace ได้ ดังนี้

– เป็นธุรกิจที่มีเงินทุนมหาศาล และใหญ่ เพียงพอที่เข้าไปลงทุนในประเทศต่าง ๆ ได้ทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่การเข้าไปจดทะเบียนใน NASDAQ ของสหรัฐอเมริกา

– เป็นธุรกิจ e-Marketplace ที่ทำหน้าที่ตอบสนองนโยบายสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจแก่รัฐบาลจีน โดยเป็นตัวกลางระบายสินค้าที่ล้นตลาดในจีนสู่ผู้ซื้อทั่วโลก โดยมุ่งเน้นกลุ่มสินค้าทั่วไป และราคาไม่สูงมาก

– เป็นธุรกิจที่นำเทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) ช่วยวิเคราะห์ Big Data ของพฤติกรรมผู้ซื้อ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตอบสนองความต้องการของผู้ซื้อที่แม่นยำขึ้น ส่งผลต่อการควบคุมต้นทุนการดำเนินงาน เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันด้านราคา ที่ถือเป็นอาวุธหลัก และหนักที่สุดของ Temu

 

Temu กับผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย

     การเปิดตัว Version ภาษาไทยของ Temu ได้ส่งผลสะเทือนให้เกิดเป็นความกังวลแก่ผู้ประกอบการไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในยามที่ผู้ประกอบการไทย ในกลุ่ม SME ที่ปัจจบันล้วนมี Digital Marketing เป็นองค์ประกอบหลักในกลยุทธ์ทางการตลาด และมี e-Marketplace หรือ e-Commerce เป็นช่องทางจัดจำหน่ายสำคัญของธุรกิจ ซึ่งผลกระทบที่ผู้ประกอบไทย และ SME ต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลังการเข้ามาร่วมเป็นผู้เล่นใหม่ของ Temu คือ

– การแข่งขันราคา คือ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะอาวุธหลักและหนักสุด ๆ ของ Temu คือ ราคาถูก ถึงถูกที่สุด

– การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการซื้อสินค้า ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการแข่งขันด้านราคา ที่จะส่งผลให้ “ราคา” เป็นองค์ประกอบสำคัญของการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้ซื้อหรือลูกค้าในอนาคตได้อย่างมีนัยสำคัญ

ความท้าทายของผู้ประกอบการไทย

     การเข้ามาของยักษ์ใหญ่ในวงการ e-Marketplace อย่าง Temu ในครั้งนี้ ไม่ได้เป็นภัยคุกคามที่ผู้ประกอบการไทยไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน แต่ในอดีตเราทุกคนล้วนเคยได้รับบทเรียนธุรกิจจากการเข้ามาเป็นผู้เล่นในวงการ Digital Marketing และ e-Marketplace ของ Lazada หรือ Shopee ไม่มากก็น้อย

ดังนั้น เราจึงอาจจะประยุกต์บทเรียนในอดีต เพื่อใช้ตั้งรับ Temu ในวันนี้ ได้พอสังเขป คือ

  1. หากพิจารณาศักยภาพทางธุรกิจที่เราคงไม่สามารถเข้าไปแข่งขันด้านราคากับสินค้าต่าง ๆ บน Platformของ Temuได้ ก็ควรหลีกเลี่ยงด้วยการค้นหาจุดแข็งอื่น ๆ ของเรามาชดเชย เช่น

1.1 พัฒนาและปรับปรุงคุณภาพของสินค้า ความรวดเร็วในการจัดส่ง ที่เราย่อมได้เปรียบสินค้าจากจีนด้านระยะทาง รวมถึง การบริการทั้งก่อนและหลังการขาย ที่จะสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าของเรากับที่นำเข้ามาจากจีน

1.2 ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในเชิงบูรณาการ โดยเฉพาะการศึกษาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI กับการวิเคราะห์ Big Data ต่าง ๆ เช่น การทำ Personalized Marketing การพยากรณ์ยอดขาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตอบสนองความพอใจแก่พวกเขาให้แม่นยำมากขึ้น

1.3 สร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า ด้วยการยกระดับการบริหารลูกค้าสัมพันธ์ (Customer Relation Management : CRM) เพื่อสร้างความผูกพันระยะยาวกับลูกค้าของเรา

ถึงอย่างไร เราไม่ควรมองข้ามหรือละเลยการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานภายในธุรกิจ ให้เกิดประสิทธิผล ทั้งในด้านการควบคุมต้นทุน และการพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน

  1. สร้าง Brandนอกจากการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันในสนามราคาที่เป็นจุดอ่อนสำคัญของผู้ประกอบการไทยแล้ว การสร้าง Brand ให้มีความแข็งแกร่งนับเป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่นักธุรกิจและการตลาดจำนวนมาก เชื่อมั่นว่าจะเป็นกลยุทธ์สำคัญสำหรับการหลีกเลี่ยงการแข่งขันในสงครามราคากับ Temu เพราะ Brand ที่แข็งแกร่งทำให้ลูกค้าจดจำได้ และพร้อมที่จะมาซื้อซ้ำทุกครั้งที่ลูกค้าของเราต้องการ
  2. Digital Marketing มีความสำคัญมากขึ้น ในการเป็นเครื่องมือสร้างเข้าถึง สร้างการรู้จัก และรับรู้แก่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของเรา โดยกลยุทธ์Digital Marketing ที่น่าสนใจกับการตั้งป้อมรับมือผู้มาใหม่อย่าง Temuคือ

3.1 Content Marketing ที่ควรมีเนื้อหาในเชิงคุณภาพ เพื่อให้ข้อมูลและสร้างความน่าเชื่อถือแก่ Brand กับลูกค้าของเรา

3.2 Influencer Marketing ควรอาศัยศักยภาพทางการสื่อสารการตลาดของพวกเขา ทั้งเพื่อการสร้างความน่าเชื่อถือแก่ Brand และส่งเสริมการตลาดให้กับสินค้าของเรา

3.3 Social Media Marketing ศึกษาและใช้ Facebook, Instagram, X Twitter) หรือ TikTok ในการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่าง Brand หรือสินค้าของเรากับลูกค้า

3.4 e-Mail Marketing ยังไม่ใช่เครื่องมือที่ล้าสมัยในยุคนี้ หากแต่ยังมีประโยชน์ในการเป็นเครื่องมือสื่อสารการตลาด และสร้างความสัมพันธ์ระยะยาวระหว่าง Brand กับลูกค้าของเรา

3.5 Search Engine Optimization (SEO) การปรับปรุง Website ซึ่งหมายรวมถึง Platform e-Commerce ของเรา ให้ติดอันดับการค้นหาของ Google ยังคงเป็นสิ่งสำคัญใน Digital Marketing ที่เราไม่สามารถมองข้ามได้เลย

 

การรุกตลาดไทย ผ่าน Platform e-Marketplace ของ Temu นับเป็นอีกหนึ่งความท้าทายครั้งใหญ่ของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะในกลุ่ม SME ที่ปัจจุบันหลายกิจการ ในหลากหลายธุรกิจ อยู่ภายใต้สถานการณ์เปราะบางอย่างยิ่ง แต่ก็นับว่าเป็นโอกาสปรับตัวและยกเครื่องธุรกิจสู่ยุคความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี Digital โดยอาศัยบทเรียนจากอดีตมาปรับใช้ในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งหากผ่านพ้นอุปสรรค และภัยคุกคามครั้งนี้ได้ เชื่อว่าผู้ประกอบการไทยจะมีศักยภาพในการเติบโต ด้วยความสามารถด้านการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น

แต่ถ้าตั้งป้อมแล้วยังต้านไม่ไหว กลยุทธ์ต่อไป … ก็เข้าร่วมด้วยซะเลย!!!