คำศัพท์คำว่า “VUCA” (อ่านว่า “วูค่า”) หรือเป็นตัวอักษรตัวแรกจากคำสี่คำมารวมกันคือ Volatility, Uncertainty, Complexity และ Ambiguity มักจะใช้บรรยายสถานการณ์ที่นักยุทธศาสตร์กำลังเผชิญสภาพแวดล้อมที่คาดเดาไม่ได้ เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ขุ่นมัว ไม่ชัดเจน สำหรับผู้ปรารถนาจะใช้ภาษาไทย ผมขอเสนอคำว่า “พปยม” (อ่านว่า “พบ-ยม” เข้าทำนองเตรียมพบพญายมอะไรเช่นนั้น) โดยใช้คำไทยที่พยายามคัดให้เข้ากันที่สุดตามลำดับเหมือนภาษาอังกฤษ คือ “พลิกผัน” “ปั่นป่วน” “ยุ่งเหยิง” “พร่ามัว” ตัดคำสร้อยออกเหลือคำโดด ก็จะได้ว่า “พลิก-ป่วน-ยุ่ง-มัว” ก็พอจะยอมความได้ไม่น้อยเลยทีเดียว แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากคำนี้ยังไม่เป็นที่นิยมนัก ผมจึงขอใช้คำว่า “VUCA” ไปพลางก่อน เพื่อความเข้าใจตรงกันตลอดข้อเขียนนี้
คำว่า “VUCA” มาจากข้อเสนอของนักทฤษฎีด้านความเป็นผู้นำที่ชื่อ วอร์เร็น เบ็นนิส (Warren Bennis) และ เบิร์ท นานุส (Burt Nanus) ในหนังสือที่ชื่อว่า “Leaders: The Strategies for Taking Charge” ซึ่งถูกตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 1981 ในหน้า 218 ทั้งคู่ได้ระบุความแตกต่างระหว่างผู้นำและผู้จัดการเอาไว้ว่า ผู้นำจำเป็นจะต้องเข้าใจถึงแก่นหลัก ทิศทาง และคุณค่าขององค์กร เหนืออื่นใดในยุคที่หนังสือเล่มนี้ถูกตีพิมพ์ขึ้น อันเป็นยุคใกล้สิ้นสุดสงครามเย็นนั้นเอง ผู้นำต้องมีความสามารถนำองค์กรเพื่อฝ่าผ่านการเปลี่ยนแปลงอันอาจเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ไม่สามารถควบคุมได้ และบางครั้งอาจไม่พึงปรารถนา โดยผู้เขียนใช้คำภาษาอังกฤษเพียงสองคำอธิบายการเปลี่ยนแปลงในลักษณะดังกล่าวว่า “spastic change” ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับตะคริวเกิดขึ้นเมื่อกล้ามเนื้อหดตัวอย่างฉับพลันและไม่สามารถควบคุมได้ แต่ข้อเขียนในส่วนบทสรุปนี้พูดถึงเพียงลักษณะสภาพแวดล้อมที่องค์กรต้องเผชิญเฉพาะ ความยุ่งเหยิง (Complexity) ความพร่ามัว (Ambiguity) และปั่นป่วน (Uncertainty) โดยไม่ได้ระบุคำว่า พลิกผัน (Volatility) เอาไว้ด้วย แม้จะได้ระบุคำนี้ไว้คู่กันกับคำอื่นในส่วนอื่นของหนังสือก็ตาม
ในภายหลัง เฮอร์เบิร์ต บาร์เบอร์ (Herbert F Barber) จะอ้างถึงแนวคิดเรื่อง “VUCA” นี้อย่างเป็นระบบในงานเขียนของเขาเกี่ยวกับผู้นำที่มีลักษณะความคิดเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Leadership) ที่ตีพิมพ์ใน Journal of Management Development เนื่องจากบาร์เบอร์ทำงานที่วิทยาลัยการสงครามแห่งสหรัฐฯ เขาได้ระบุในงานเขียนชิ้นนี้อย่างตรงไปตรงมาว่าวิทยาลัยการสงครามฯ ได้รับเอาแนวคิดเรื่อง “VUCA” ของเบ็นนิสและนานุสมาใช้ เพื่อสาธยายสภาพความเป็นจริงของสิ่งแวดล้อมที่เหล่าผู้นำเชิงยุทธศาสตร์มักจะต้องประสบพบเจอ โดยบาร์เบอร์ยังระบุเพิ่มเติมว่าเพื่อไม่ให้แนวคิด “VUCA” มีความหมายเชิงลบเกินไปจึงต้องควรเพิ่มคำว่า “ความเป็นไปได้” (possibilities) และ “โอกาส” (opportunities) ลงไปด้วย หากเรารับความหมายในทำนองนี้ แนวคิดเรื่อง “VUCA” ก็สอดคล้องกับแนวคิดเรื่อง “วิกฤต” หรือคำว่า “เหว่ยจี” (危機) ในภาษาจีนเพราะคำนี้ประกอบด้วยทั้งคำว่า “เหว่ย” ซึ่งแสดงถึงภยันตราย แต่คำหลัง “จี” กลับมีความหมายถึง “โอกาส” และ “จุดพลิก” ได้ด้วยเช่นกัน โดยทางกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ มองว่าคำว่า “VUCA” สามารถใช้บรรยายสถานการณ์ใหม่หลังสิ้นสุดสงครามเย็น ที่ในช่วงนั้นยังไม่ทราบว่าความท้าทายใหม่หลังสหภาพโซเวียตล่มสลายลงไปแล้วจะมีลักษณะเป็นอย่างไร
ต่อมาคำว่า “VUCA” จะถูกนำมาอ้างอิงในบทความของ Harvard Business Review ที่ชื่อ “What VUCA Really Means for You” ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 2014 และต่อมาก็แพร่หลายไปในวงกว้างจนปัจจุบันแม้แต่ข้อเขียนหรือคำบรรยายของผู้นำระดับโลกก็มักจะอ้างอิงคำว่า “VUCA” อย่างสม่ำเสมอ โดยมักจะให้หมายถึงความท้าทายของผู้นำในยุคใหม่ ซึ่งประสบโจทย์หลายด้านจากสภาพแวดล้อมที่อยู่นอกเหนือจากความท้าทายภายในองค์กรที่ต้องประสบตามปกติ ไม่ว่าจะเป็น ความท้าทายเรื่องความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจถดถอย ความตึงเครียดจากการแบ่งขั้วทางการเมือง ความตึงเครียดจากการแข่งทางภูมิรัฐศาสตร์ ความเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีซึ่งมักเป็นไปอย่างฉับพลันถึงราก โดยเฉพาะจากเทคโนโลยี “ลึก” (Deep Technology) ในรูปแบบต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งปัญหาเรื่องโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ฯลฯ เป็นต้น
โดยทั่วไป ผู้นำเชิงยุทธศาสตร์มักมีเครื่องมือหลายแบบที่ใช้รองรับความท้าทายอย่าง “VUCA” นี้ เครื่องมือพื้นฐานสมัยใหม่ก็มักจะเป็นการพัฒนาฉากทัศน์อนาคตเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Scenario Planning) การใช้แบบจำลองพลวัตเชิงระบบ (System Dynamics) และการใช้แบบจำลองภาคี (Agent Based Modeling: ABMS) เครื่องมือเหล่านี้ถูกพัฒนามาอย่างยาวนาน และก็มีความเป็นมาคล้ายกับแนวคิด “VUCA” เช่นเดียวกันคือ มีความเกี่ยวข้องกับแนวคิดทางการทหาร เพราะเราต้องถือว่าสนามทดสอบในสงครามเป็นสนามทดสอบการวางแผนยุทธศาสตร์ที่มีเดิมพันผลได้เสียสูงสุดจึงเป็นสนามทดสอบที่มักเกี่ยวข้องกับแผนยุทธศาสตร์หรือ “ตำราพิชัยสงคราม” มาแต่ครั้งโบราณ หรือในยุคก่อนสงครามโลก เยอรมนีก็มีการใช้เกมสงคราม ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นตั้งแต่สมัยปรัสเซียโดยทำให้มีความซับซ้อนกว่าหมากรุกธรรมดาทั่วไป
ผู้นำเชิงยุทธศาสตร์จึงใช้เครื่องมือเหล่านี้เพื่อคาดการณ์สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต กำหนดความชัดเจนจากความไม่ชัดเจน วางวิสัยทัศน์ให้ยาวไกล พัฒนาลำดับความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ก่อนหลังสำหรับองค์กร และในที่สุดก็เพื่อเป็นการรับมือความท้าทายอย่าง “VUCA” เปลี่ยนอันตราย “เหว่ย” ให้เป็นโอกาส “จี” ให้ได้
เช่นเดียวกัน เราได้เอ่ยถึงความท้าทายในยุค “VUCA” อย่างหนึ่งที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีลึก มีผู้นิยามเทคโนโลยีลึกไว้หลายแบบ ผมพอจะบรรยายได้คร่าว ๆ เป็นสองลักษณะคือ หนึ่ง ระบุเทคโนโลยีหลักที่เป็นแกนในการเปลี่ยนแปลงแต่ละยุคสมัย ดังตัวอย่างคนอาจจะนึกถึงเครื่องจักรไอน้ำในสมัยการปฏิวัติอุตสาหกรรมของอังกฤษ ในปัจจุบันก็มีผู้ระบุกลุ่มเทคโนโลยีที่ชื่อว่า MBNRIC (เทคโนโลยีการแพทย์ – Medicine, เทคโนโลยีชีวภาพ – Biotech, เทคโนโลยีนาโน – Nanotech, เทคโนโลยีหุ่นยนต์ – Robotic, เทคโนโลยีไอที – IT, เทคโนโลยีประชานศาสตร์ – Cognitivetech)
และสอง การระบุปัจจัยเปลี่ยนแปลงรากฐานเพียงหนึ่งเดียว คือปัจจัยด้านพลังการคำนวณของคอมพิวเตอร์ที่ผลของการเปลี่ยนแปลงในตัวมันเองจะสร้างแรงเสริมในการเปลี่ยนแปลงในตัวมันเองอย่างทบทวีคูณเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง (Exponential Change) จนกระทั่งบรรลุภาวะเอกฐาน (Singularity) ซึ่งคาดกันว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะมาถึงในราวกึ่งศตวรรษนี้ เราจะสังเกตเห็นได้ว่าใจกลางของวิธีคิดทั้งสองแบบเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องเอ่ยถึงเทคโนโลยีประเภทหนึ่งคือ “ปัญญาประดิษฐ์” (Artificial Intelligence) หรือเอไอ
ระบบเอไอในยุคใหม่ ถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานของแนวคิดเรื่องเครือข่ายใยประสาทเทียม (Artificial Neuron Network) โดยภายหลังการเปิดตัวโปรแกรมที่เรียกว่า “แชทจีพีที” (ChatGPT) ของบริษัทโอเพ่นเอไอ (OpenAI) ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ต้องถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงระดับปฏิวัติ เพราะยอดผู้ใช้งานแชทจีพีทีทะลุถึงหนึ่งพันล้านรายภายในเวลาไม่กี่เดือน และในปัจจุบันยอดการใช้งานก็เฉียดขึ้นไปในระดับสามพันล้านราย ระบบเอไอปัจจุบันยังมีปัญหาเรื่องการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง (Hallucination) ซึ่งจำเป็นที่ผู้ใช้งานจะต้องตรวจสอบอยู่เสมอ แต่ในปัจจุบันก็มีการพัฒนาเทคนิคเพื่อแก้ปัญหานี้ให้ตกลงไปมาก ไม่ว่าจะเป็นการใช้เทคนิคการสืบค้นเสริม (Retrieval Augmented Generation: RAG), การทำการฝึกฝนเอไอเฉพาะทาง (Fine-Tuning) และการใช้เอไอหลายตัวมาประสานงานร่วมกัน (Multiple AI) เป็นต้น เทคนิคเหล่านี้ได้มีผู้ค้นคว้ากันหลากหลายและทำให้ได้ผลการทดลองเชิงประจักษ์ว่าเทคนิคในขอบข่ายดังกล่าวสามารถช่วยลดปัญหาความผิดพลาดของเอไอลงได้มาก
ในปัจจุบัน เราสามารถใช้เอไอเป็นผู้ช่วยในการให้ข้อมูล ซึ่งเกิดจากการที่ผู้สร้างเอไอรายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโอเพ่นเอไอ กูเกิล เมตา หรือแอนโทรปิคส์ ได้เตรียมการฝึกฝนไว้ให้เอไอซึ่งมีขนาดนับล้านล้านโทเค็น หรือมากกว่าปริมาณสะสมของหนังสือในห้องสมุดเสียอีก เมื่อผนวกกับเครื่องมือที่ผมได้พูดถึงไปเบื้องต้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ฉากทัศน์อนาคตเชิงยุทธศาสตร์ แบบจำลองพลวัตเชิงระบบ และแบบจำลองภาคี การวาดภาพอนาคต การทำความเข้าใจสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความขุ่นมัว ไม่แน่นอน และการวางแผนลำดับความสำคัญยุทธศาสตร์ให้กับองค์กร จะทำได้อย่างกระจ่างชัดและรวดเร็วมากยิ่งขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา
เมื่อนั้น เราจะเห็นได้ว่าผู้นำเชิงยุทธศาสตร์ ที่มีความเข้าใจในการใช้เครื่องมือเหล่านี้ได้อย่างถ่องแท้ ติดอาวุธเพิ่มเติมด้วยผู้ช่วยชั้นดีอย่างเอไอสมัยใหม่ ก็แทบไม่ต่างจากพยัคฆ์ติดปีก ผมควรจะให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกโสตหนึ่งว่า จากการคาดการณ์ของทั้งโอเพ่นเอไอและกูเกิล ต่างก็เห็นว่าในปีนี้เป็นปีแห่งการเปลี่ยนผ่านสำคัญที่ทำให้เอไอกำลังเปลี่ยนแปลงจากระบบแชทบ็อทถามตอบอย่างที่เราเห็นในแชทจีพีทีเมื่อสองปีก่อน แล้วก้าวเข้าสู่ระดับเอไอที่สามารถทำงานแทนเราได้อย่างอัตโนมัติ (หรือเอเจนติคเอไอ) ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ก็เป็นความท้าทายที่ผู้นำเชิงยุทธศาสตร์จำเป็นจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส หรือเพื่อทำให้ “VUCA” เป็นการเปลี่ยนกระบวนทัศน์และเป็นแรงทดสำหรับการสร้างประสิทธิภาพอย่างก้าวกระโดดมากกว่าอุปสรรคที่ทำให้องค์กรไม่สามารถรับมือได้ทันนั่นเอง
และเมื่อ AI มีอิทธิพลต่อการบริหารธุรกิจ เราต้องเริ่มทำความเข้าใจ ตระหนักถึงความท้าทายใหม่ ๆ จาก AI ก่อนจะนำเทคโนโลยี AI มาใช้ … และก่อนที่คู่แข่งของคุณจะใช้ AI มาแย่งลูกค้าไปจากคุณ
และด้วยโลกในยุค VUCA World นี้เอง ทางศูนย์เชี่ยวชาญการตลาดแห่งภูมิภาคเอเชีย (AMEC) คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้ออกแบบหลักสูตร Fast Mini MBA for New Manager in the Age of VUCA เพื่อช่วยธุรกิจไทยมีความแข็งแกร่งหรือเป็นการเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับธุรกิจ ด้วยหลักสูตรด้านการบริหารธุรกิจแบบเร่งรัด 60 ชม. โดยนักธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ กว่า 20 คน ช่วยกันระดมหาแนวความคิดใหม่ๆ และวัฒนธรรมในรูปแบบใหม่ๆ เข้ามาใช้ในชีวิตประจำวันและในวิถีการทำงานใหม่ เพื่อให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลง และไม่แน่นอนของโลกสมัยใหม่ มีการเพิ่มความเข้มข้นด้านการบริหารจัดการอย่างรอบด้าน มีความทันสมัยแตกต่างจากเดิม
ติดตามรายละเอียดหลักสูตร Fast Mini MBA for New Manager in the Age of VUCA
ทางเว็บไซต์ : https://www.fastminimba.com
สอบถามข้อมูลที่ Line : @fastminimba