องค์ประกอบการจัดการ Supply Chain ให้สำเร็จ
ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology : IT) และรูปแบบการใช้ชีวิตในสังคมปัจจุบันของคนรุ่นใหม่ ๆ ที่ทยอยเข้ามามีบทบาททั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจที่ต้องพัฒนาและยกระดับสู่ e-Business ทั้งในระดับปรับใช้เทคโนโลยีให้เป็นเครื่องมือเล็ก ๆ ระบบหนึ่งของระบบงานทั้งหมดในธุรกิจ ถึงการใช้เทคโนโลยีอย่างเช้มข้น ตั้งแต่การประยุกต์ใช้เป็นเครื่องมือเข้าถึงลูกค้า เพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด เพิ่มยอดขาย และสร้าง Brand Loyalty รวมตลอดถึง การใช้เทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนการดำเนินงาน ด้วยการนำมาประยุกต์ใช้ในการบริหาร Supply Chain ของธุรกิจ ให้เชื่อมต่อการดำเนินงานอย่างไร้รอยต่อ ตั้งแต่การประเมินความต้องการ รับคำสั่งซื้อจากลูกค้า ย้อนกลับไปถึงการบริหารสินค้าคงคลัง การสั่งซื้อและบริหารการจัดส่งวัตถุดิบจาก Suppliers สู่สายพานการผลิต เป็นสินค้าที่ขนส่งถึงมือลูกค้าในที่สุด หรือที่เรียกว่า Supply Chain Management (SCM)
Fast Mini MBA Supply Chain Management for e-Business ได้เคยกล่าวถึงความไม่ยากที่จะนำ SCM มายกระดับการดำเนินธุรกิจของเรา แต่ในความไม่ยากนั้นมีกับดักที่อาจจะเป็นสาเหตุของความล้มเหลวด้วยเช่นกัน ซึ่งเมื่อรู้ว่ามีปัจจัยที่เป็นกับดักแล้ว ย่อมควรรู้ว่ามีองค์ประกอบที่เป็น Key Success Factors ที่จะนำ SCM มาเป็นเครื่องมือยกระดับธุรกิจสู่ e-Business ที่สมบูรณ์แบบด้วยเช่นกัน คือ
1. ผู้นำต้องแน่วแน่กับ SCM
สำหรับธุรกิจที่อยู่ในช่วงริเริ่มที่จะนำ SCM มายกระดับธุรกิจ มักจะเกิดแรงกระเพื่อมขึ้นในองค์กรอย่างมีนัยสำคัญ เพราะ SCM จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน ถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการดำเนินงานโดยรวมของธุรกิจ จึงย่อมนำมาซึ่งแรงต้านจากบุคลากรที่ไม่พร้อมกับการเปลี่ยนแปลง (จำนวนหนึ่ง) อย่างแน่นอน ดังนั้น เราจึงต้องมีความเป็นผู้นำที่มุ่งมั่น แน่วแน่ เด็ดขาด และเป็นธรรม ต่อการนำ SCM มายกระดับธุรกิจ ด้วยการสื่อสารถึงความสำคัญและจำเป็นที่จะต้องใช้ SCM ร่วมกับการส่งเสริมวัฒนธรรมการทำงานร่วมกันแก่บุคลากร ให้พวกเขาเรียนรู้และยอมรับความเปลี่ยนแปลงเพื่อปรับปรุงการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- SCM ต้องเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ธุรกิจ
ต้องกำหนดกลยุทธ์ธุรกิจที่มีวัตถุประสงค์ และเป้าหมาย ที่สอดคล้องกับการยกระดับธุรกิจโดยมี SCM เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนการดำเนินงานตามกลยุทธ์ เพื่อให้เกิดกรอบการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ที่ชัดเจน ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการดำเนินงานให้เหมาะสม มีการจัดสรรทรัพยากรอย่างเพียงพอ และการประเมิน SCM ด้วยดัชนีชี้วัดที่สอดคล้องกับเป้าหมายของกลยุทธ์ธุรกิจ
3.ลูกค้า ลูกค้า ลูกค้า
ในหลาย ๆ บทความของ Fast Mini MBA จะย้ำเสมอว่าการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จต้องมีลูกค้าเป็นศูนย์กลางของทุก ๆ กลยุทธ์หรือกิจกรรมการดำเนินงานของเรา ดังนั้น ในการประยุกต์ SCM เพื่อยกระดับธุรกิจของเรา จึงต้องวิเคราะห์จากความเข้าใจถึงความคาดหวังที่ลูกค้าต้องการจากธุรกิจของเรา เพื่อใช้เป็นแนวทางพิจารณา SCM ให้มีระบบการทำงานตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าที่ตรงตามความคาดหวังของพวกเขาอย่างแท้จริง
- บูรณาการการใช้SCMตลอดห่วงโซ่อุปทาน
SCM จะแสดงบทบาทระบบการบริหารห่วงโซ่อุปทานที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เมื่อสามารถเชื่อมการดำเนินงานร่วมกันระหว่างลูกค้ากับเรา และเรากับ Suppliers อย่างไร้รอยต่อ ด้วยระบบการดำเนินงานร่วมกัน ที่มีการแบ่งปัน (Share) ข้อมูลธุรกรรมทางการค้าระหว่างกันอย่างโปร่งใส กล่าวคือ SCM จะช่วยให้เราคาดการณ์ความต้องการของลูกค้าได้แม่นยำ ขณะที่ลูกค้าได้รับการบริการที่ดีขึ้น ด้วยราคาที่เหมาะสม ในอีกด้านหนึ่งระหว่างเรากับ Suppliers ที่จะลดระยะเวลารอคอยวัตถุดิบ และต้นทุนบริหารสินค้าคงคลังที่ต่ำให้กับเรา ในขณะที่ Suppliers สามารถคาดการณ์ความต้องการวัตถุดิบของเราได้แม่นยำ เพื่อจัดหาและจัดส่งวัตถุดิบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเช่นกัน
- มีแผนสองรองรับ
การมีแผนสำรองรองรับ SCM เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่มองข้ามไม่ได้ ในกรณีที่ SCM ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ เช่น เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ อุบัติเหตุ หรือแม้แต่ความสามารถป้อนวัตถุดิบของ Suppliers ที่ไม่เสถียร ฯลฯ ล้วนเป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เราจึงควรมีกลยุทธ์บริหารความเสี่ยงจากการจำลองสถานการณ์ต่าง ๆ เหล่านั้น พร้อมกับแนวทางหรือวิธีการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม ที่บุคลากรของเรารู้และมีความเข้าใจในแนวทางปฏิบัติร่วมกัน
ทั้งนี้ ระบบ SCM ที่มีประสิทธิภาพ ควรมีดัชนีที่สามารถแจ้งเตือนให้เราสามารถประเมินศักยภาพของ Suppliers ได้ล่วงหน้า เพื่อสร้างทางเลือกก่อนเกิดวิกฤติการณ์หรือปัญหาขึ้นในการดำเนินงานของเรา … พึงตระหนักเสมอว่าเรายังอยู่ในยุค VUCA ที่ความแน่นอน คือ ความไม่แน่นอน
- KPI ชัดเจน
เราทราบโดยทั่วไปแล้วว่า SCM ช่วยยกระดับธุรกิจให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ ด้วยต้นทุนการดำเนินงานที่ต่ำ มีความมั่นคงด้านวัตถุดิบ และความรวดเร็วที่จะตอบสนองความต้องการของลูกค้า ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ อาจจะนำมาปรับปรุงใช้เป็นดัชนีชี้วัด หรือ KPI ของ SCM ได้ในระดับหนึ่ง แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ควรมีการศึกษาให้เข้าใจกระบวนการการทำงานของ SCM ทั้งระบบตลอดห่วงโซ่อุปทานของเรา แล้วจึงจัดแบ่งกลุ่มกระบวนการทำงานหรือกิจกรรมที่เกิดขึ้นเหล่านั้น เพื่อกำหนด KPI ตามความรับผิดชอบของแต่ละกิจกรรมที่ต่อเนื่องไปตลอดห่วงโซ่อุปทาน เช่น KPI ด้านความคุ้มทุน ประสิทธิภาพของกระบวนการหรือกิจกรรม ประสิทธิภาพของบุคลากร รอบเวลาเปรียบเทียบกับคุณภาพของผลผลิต เป็นต้น และที่สำคัญกว่านั้น คือ KPI ของ SCM ที่จะต้องตอบสนองต่อเป้าหมายของกลยุทธ์ธุรกิจของเรา
ทั้งการได้รู้ถึงกับดับ และ Key Success Factors ของการนำ Supply Chain Management หรือ SCM มายกระดับธุรกิจของเราสู่การเป็น e-Business แล้ว ขั้นตอนต่อไป คือ การเรียนรู้อย่างเจาะลึกถึงระบบการบริหารและจัดการ Supply Chain ตั้งแต่แนวคิด หลักการ วิธีการ และตัวอย่างการใช้ SCM ทั้งในกรณีที่ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว ซึ่งมีอยู่ในหลักสูตร Fast Mini MBA Supply Chain Management for e-Business ก่อนจะนำองค์ความรู้ต่าง ๆ มาพัฒนาจัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) เพื่อนำ SCM มาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจต่อไป และต้องไม่ลืมการสื่อสารให้บุคลากรทุกคนได้ทราบอย่างเข้าใจถึงความสำคัญ ความจำเป็น ของ SCM และ Action Plan ดังกล่าวอย่างทั่วถึงด้วยเช่นกัน